inskru
gift-close
insKru Selected

RISE OF CIVILIZATIONS ก่อร่างสร้างอารยธรรม

2
0
ภาพประกอบไอเดีย RISE OF CIVILIZATIONS ก่อร่างสร้างอารยธรรม

กิจกรรมที่จะทำให้ผู้เรียนเข้าใจถึงสาระสำคัญของการก่อกำเนิด การดำรงอยู่ และการล่มสลายของอารยธรรม นอกจากนั้นยังแฝงแง่คิดเกี่ยวกับบทเรียนทางประวัติศาสตร์กับการตัดสินใจในปัจจุบันและอนาคตที่มีประสิทธิภาพ

ผมเชื่อว่าการสอนสังคมศึกษาไม่ใช่การอัดข้อมูลทุกอย่างเพื่อให้นักเรียนเป็นคอมพิวเตอร์เดินได้ แต่คือการเลือกบางส่วนของเนื้อหาที่มีอยู่มากมายมาทำให้นักเรียนเข้าถึงแก่นของเรื่องที่จะเรียนได้อย่างสนุกสนาน และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ต่อยอดได้

เมื่อผม ครูก๊อสมี่ (ณัฐภัทร คล้ายสุวรรณ์) ต้องสอนในรายวิชาสังคมศึกษา ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เรื่อง อารยธรรมโบราณ ผมจึงบอกตัวเองว่าเราต้องทำให้นักเรียนเข้าใจถึงแก่นของอารยธรรมให้ได้ ด้วยวิธีการที่เข้ากับยุคสมัยของเขา ผมจึงเริ่มด้วยการดาวน์โหลดเกมชื่อ rise of empires มาเล่นในมือถืออยู่ 3 วัน จนทำให้ผมได้ไอเดียมาทำกิจกรรมนี้ กิจกรรมมีวิธีการเล่นอย่างไร จะสนุกแค่ไหน มาติดตามกันเลย และสามารถติดตามได้อีก 1 ช่องทาง ที่เพจ Social Gozsip - ก๊อสกระซิบ ทิปสังคม


กิจกรรมนี้สอนอะไรนักเรียน?

ทุกครั้งก่อนที่ครูจะออกแบบกิจกรรม เป็นที่แน่นอนว่าเราต้องตั้งเป้าหมายก่อนว่าหลังจากจบกิจกรรมแล้ว นักเรียนจะได้เรียนรู้อะไรบ้าง หลังจากผมตกผลึกไอเดียจากเกม rise of empires ผมจึงสร้างกิจกรรม ชื่อ "RISE OF CIVILIZATIONS ก่อร่างสร้างอารยธรรม" โดยมุ่งให้นักเรียนเข้าใจในสาระสำคัญ 4 ข้อ

1. สภาพทางภูมิศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการสร้างสรรค์ภูมิปัญญาและมรดกทางวัฒนธรรม

2. การสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษย์ คือ การบริหารจัดการข้อจำกัดที่เกิดขึ้นจากปัจจัยทางธรรมชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน และรองรับสภาวการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

3. ความผิดพลาดในอดีตเป็นบทเรียนเพื่อลดข้อผิดพลาดของการตัดสินใจในปัจจุบันและอนาคต

4. ความสามารถทางสติปัญญาของมนุษย์เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อการกำเนิด ดำรงอยู่ และสิ้นสุดของอารยธรรม


กิจกรรมนี้มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง?

ขั้นที่ 1 : ครูสมมติให้นักเรียนในห้องร่วมกันสถาปนาแว่นแคว้นขึ้นมา 1 แว่นแค้วน (หรืออาจให้ทำเป็นเดี่ยว หรือกลุ่ม ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมชั้นเรียนนั้น ๆ) โดยจะต้องนำทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดไปพัฒนาพลเมืองแต่ละสาขาอาชีพที่จะเป็นประโยชน์กับแว่นแคว้นของตน ซึ่งกำหนดให้มีทรัพยากรและเงื่อนไขในการพัฒนาพลเมืองแต่ละสาขาอาชีพ ดังต่อไปนี้

ขั้นที่ 2 : นักเรียนร่วมกันแชร์ไอเดียในการพัฒนาแว่นแคว้นของตนว่าควรพัฒนาพลเมืองในสาขาใด จำนวนเท่าใด เพื่อความเหมาะสม และใช้ทรัพยกรอย่างคุ้มค่า โดยครูอำนวยความสะดวกในการคำนวณให้กับนักเรียนผ่านการทำเป็นตาราง Microsoft Excel สำเร็จรูป (แนบมาด้านท้าย) นอกจากจะทำให้นักเรียนสะดวกในการคำนวณยังช่วยครูในการเช็คความถูกต้องและประหยัดเวลา

ขั้นที่ 3 : ครูสุ่มเปิดสถานการณ์อันไม่คาดคิด ซึ่งจำนวนพลเมืองแต่ละสาขาอาชีพมีผลต่อการดำรงอยู่ของแว่นแคว้น โดยสุ่มเปิด 3 ครั้ง หากแว่นแคว้นที่นักเรียนพัฒนาขึ้นมีจำนวนพลเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาน้อยกว่าที่สถานการณ์กำหนดไว้ แว่นแคว้นนั้นก็จะล่มสลาย เช่น

โดยมีสถานการณ์ทั้งหมด 8 สถานการณ์ ดังต่อไปนี้

ขั้นที่ 4 : ครูและนักเรียนอภิปรายร่วมกันถึงบทเรียนจากกิจกรรม จากนั้นให้นักเรียนลองบริหารจัดการพลเมืองในแว่นแคว้นของตนใหม่อีก 1 ครั้ง โดยใช้บทเรียนจากความผิดพลาดในอดีตมาประกอบการบริหารจัดการพลเมืองในรอบใหม่

ขั้นที่ 5 : สุ่มเปิดสถานการณ์ 3 สถานการณ์เช่นเดิม (จาก 8 สถานการณ์ข้างต้น) ซึ่งนักเรียนอาจเจอได้ทั้งสถานการณ์เดิม และสถานการณ์ใหม่

ขั้นที่ 6 : ครูและนักเรียนร่วมกันเปรียบเทียบผลจากการเล่นในครั้งแรก และอภิปรายร่วมกันถึงบทเรียนจากกิจกรรม


นักเรียนได้อะไรจากกิจกรรมในครั้งนี้?

บทสนทนาที่ได้จากการอภิปรายสรุปบทเรียนร่วมกัน สามารถสรุปเป็นข้อความได้คร่าว ๆ ดังนี้

“...การกำเนิด การดำรงอยู่ และการสิ้นสุดของอารยธรรมเป็นผลมาจากความสามารถทางสติปัญญาของมนุษย์ในการบริหารจัดการข้อจำกัดที่เกิดขึ้นจากปัจจัยทางธรรมชาติเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จนเกิดเป็นภูมิปัญญาต่าง ๆ...”

“...การเล่นครั้งที่สองนั้นก็เปรียบเสมือนการที่เราศึกษาประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตามแม้เรามีบทเรียนจากในอดีตก็ไม่เสมอไปที่เราจะยับยั้งไม่ให้มันเกิดขึ้นได้ แต่อย่างน้อยเราสามารถนำบทเรียนเหล่านั้นมาบริหารจัดการและหาแนวทางรับมือให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นได้...”

ซึ่งบทสนทนาที่ได้หลังจากกิจกรรม ก็สะท้อนว่ากิจกรรม "RISE OF CIVILIZATIONS ก่อร่างสร้างอารยธรรม" บรรลุตามจุดมุ่งหมายที่ครูก๊อสมี่ได้ตั้งใจไว้


เนื่องจากกิจกรรมนี้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้กับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่ไม่เพียงมุ่งเน้นแต่ให้นักเรียนเข้าใจถึงแก่นแท้ของเนื้อหาเท่านั้น ยังมุ่งเน้นพัฒนาทักษะการคิดและการตัดสินใจร่วมกันด้วย กิจกรรมจึงมีความสลับซับซ้อน หากนำไปใช้กับนักเรียนที่ระดับอื่น อาจต้องมีการปรับรูปแบบให้เหมาะสมกับช่วงวัยนั้น ๆ

สุดท้ายขอขอบคุณ insKru ที่เปิดพื้นที่ให้แชร์ไอเดีย หวังว่าไอเดียนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณครูหลาย ๆ ท่าน หากว่าครูท่านใดลองนำเทคนิคนี้ไปใช้แล้วได้ผลเป็นอย่างไร หรือมีความคิดดี ๆ อยากจะเสริมเพิ่มเติม สามารถแนะนำได้ผ่านช่องทางนี้ หรือ ทางเพจ Social Gozsip - ก๊อสกระซิบ ทิปสังคม

ไฟล์ที่แบ่งปัน

    สังคมศึกษาเกมและกิจกรรมเทคนิคการสอนมัธยมปลายทักษะการคิดวิเคราะห์ทักษะความคิดสร้างสรรค์ทักษะการร่วมมือประวัติศาสตร์ประวัติศาสตร์สากลประวัติศาสตร์สนุกประวัติศาสตร์ตะวันตกอารยธรรมอารยธรรมโบราณอารยธรรมตะวันตกอารยธรรมเมโสโปเตเมียDOEผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม

    ไอเดียนี้เป็นไงบ้าง?

    2
    ได้แรงบันดาลใจ
    0
    ลงไอเดียอีกน้า~
    แบ่งปันโดย
    KruGoz - ณัฐภัทร
    เจ้าของเพจ Social Gozsip - ก๊อสกระซิบ ทิปสังคม

    อยากร่วมแลกเปลี่ยน?

    please login

    แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru

    เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย

    icon-please-commentมาเป็นคนแรกที่แลกเปลี่ยนสิ!

    ไอเดียน่าอ่านต่อ