“ก่อนหน้านี้เราเครียด ร้องไห้ทุกปีเลย รู้สึกว่าทำไมมันยากจัง
เจอปัญหาก็ไม่กล้าเล่าให้ใครฟัง กลัวครูที่รับช่วงต่อจากเราจะว่าเราสอนไม่ดี
ทำไมเด็กยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้
เราสอน ป.1 มาปีที่ 4 แล้ว ไม่รู้จะทำยังไงให้เด็กอ่านออกเขียนได้ ทุกข์ทั้งครู ทุกข์ทั้งเด็ก ก่อนหน้านี้เราคิดอยู่ในกรอบตลอดว่า เด็กจะต้องอ่านออกเขียนได้ตามตัวชี้วัด พอเด็กทำไม่ได้ คนที่เฟลก็คือครู หลังจากที่ได้เข้าร่วมวงคุยครูปล่อยของ Connect ฟังเพื่อนครูคนอื่นๆ ที่เจอปัญหาเหมือนกัน เราก็กดดันตัวเองน้อยลง ไม่กดดันเด็กเหมือนแต่ก่อน
อย่างแรกเลย คือ เราปรับทัศนคติตัวเองจากที่เคยยึดติดกับกรอบ ก็พยายามปล่อยวาง เราได้ทำความเข้าใจภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ เด็ก ป.1 ตอนนี้ก็ยังมีพัฒนาการเท่ากับเด็กอนุบาล ครูป้อนเท่าไหร่เขาก็ยังไม่อยากเรียน เมื่อถึงเวลาที่พร้อม เขาก็จะทำได้ ไม่ต้องเร่ง เด็กแต่ละรุ่นความพร้อมต่างกัน เด็กที่เราสอนตอนนี้เขาไม่พร้อมเลย จึงกลับไปดูวิธีการสอนของตัวเองใหม่ พยายามทำให้เด็กมีความสุขในการเรียนมากขึ้น
เด็ก ป.1 ที่เราสอนเขามักจะพูดว่า “ยาก ผมทำไม่ได้” เราก็ชมจุดเด่นของเขาว่า “เธอเขียนสวยนะ แค่เขียนช้า” แล้วก็ชวนนักเรียนคนอื่นๆ ให้มาช่วยสอน เพื่อนๆ ที่มามุงก็ชมตามไปด้วยว่า “เขียนสวยจังเลย” เขาก็มีกำลังใจในการเขียนมากขึ้น
ส่วนปัญหาเด็กจำตัวอักษรไม่ค่อยได้ เราลองใช้วิธีแจกตัวพยัญชนะ แจกสระให้คนละ 1 แผ่น แล้วให้มาช่วยกันผสมคำตามที่ครูบอก เด็กๆ สนุกกันมาก ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ บางคนบอกว่า “ครูคะเอาตัวนี้บ้างสิ สระอีบ้างสิ” เราลองทำกิจกรรมนี้ตอนที่รองผอ. โรงเรียนมานิเทศก์การสอน ก็ชมว่าเป็นวิธีการที่ดีเลย เด็กๆ ให้ความร่วมมือดีมากด้วย
เด็กห้องครูมุกส่วนใหญ่มีพัฒนาการค่อนข้างช้า นิ่งได้แป๊บเดียว พอสังเกตว่าเด็กๆ เริ่มเบื่อ เราก็ชวนเล่นลีลามือประกอบเพลงอารัมซัมซัม ประมาณ 2-3 นาที ใช้กิจกรรมเข้าจังหวะช่วยในการจำได้มากขึ้น การชวนร้องเพลงก็เป็นการเก็บเด็กไปในตัว ครูจะใช้ไม้เคาะโต๊ะไปด้วย เด็กก็ปรบมือบ้าง บางทีก็เปิดยูทูบ เราปล่อยให้เด็กๆ ได้เล่นบ้าง ไม่ได้บังคับว่าจะต้องอ่าน เขียนให้ได้เหมือนแต่ก่อน แต่เราก็สังเกตว่าการอ่านพัฒนาขึ้นนะคะ การเขียนอาจจะยังไม่ค่อยได้ แต่พัฒนาการอ่านมากกว่าเทอมที่แล้ว แค่นี้ก็พอใจแล้วค่ะ
คิดว่าเทอมหน้าก็จะนำไอเดียจากวงคุยครูปล่อยของ Connect มาลองใช้มากขึ้น อยากลองทำหลายวิธีเลย เชื่อว่าเป็นประโยชน์ทุกวิธี แต่ขึ้นอยู่กับว่าเด็กของเราเหมาะกับวิธีการไหน ต้องลองปรับไปตามบริบทของชุมชนด้วย
แบ่งปันเรื่องราวความเป็นไปได้โดย
ครูมุก-มุกดามาศ กลัดทอง
โรงเรียนบ้านห้วยไคร้ จังหวัดสุโขทัย
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย